ที่ว่าองค์พระฯ รัดด้วยโซ่ คืออย่างไร : SNC Library Podcast S3 Eps. 128 - a podcast by Sanamchandra Palace Library

from 2022-11-11T11:02:53

:: ::

พระปฐมเจดีย์ หรือ องค์พระ ที่ชาวนครปฐมเรียกขานนั้น รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2395 โดยให้ช่างทหารในต่อตัวอย่างถวายเป็นรูปพระเจดีย์กลมไม่มีฐานทักษิณ แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพระเจดีย์เป็นทรงระฆังโดยสร้างครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ภายในดังที่เห็นในปัจจุบัน เหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพระเจดีย์เนื่องด้วยการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกพังทลายลง ดังมีความจาก เรื่องพระปฐมเจดีย์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) กล่าวถึงพระเจดีย์ที่ก่อขึ้นไปได้สูง 17 วา 2 ศอก (35 เมตร) เมื่อถึงปีวอกโทศก เดือน 8 ขึ้น 13 ค่ำ “...เพลากลางคืน ได้ยินเสียงร้องไห้เซ็งแซ่ในที่องค์พระ จนชาวบ้านตกใจ ครั้นรุ่งขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ ฝนตกหนักทั้งกลางวันกลางคืน อิฐที่ก่อนั้นหนักตัวก็เลื่อนทรุดลงมา รอบตัวเพราะฐานทักษิณไม่มี ข้างบนหนัก ข้างล่างบางเพียง 3 ศอก 4 ศอก ทรงกันไว้ไม่อยู่ ต้องรื้อออกเสียทำใหม่...”



รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์และกรมขุนราชสีหวิกรม คิดตัวอย่างแบบรูปพระเจดีย์ใหม่ ให้ฐานใหญ่ขึ้นเพื่อรับน้ำหนักข้างบนได้ ทั้งได้เสริมเพิ่มความแข็งแรง ดังความกล่าวว่า “...องค์พระปฐมเจดีย์นั้นก่อขึ้นแล้ว ที่ชั้นทักษิณที่ 1 ปักเสานางเรียงรอบองค์ แล้วมีเสาปักเป็นขาทรายค้ำเสานางเรียงด้วยชั้นทักษิณที่ 2 มีแต่ขาทรายค้ำ ไม่มีเสานางเรียง ที่ตรงบัวถลาลงไป มีเสานางเรียงปักไม้ซุงทั้งต้นถึงพื้น อีกรอบหนึ่ง รัดด้วยซุงทั้งต้นแล้วเอาสายโซ่ใหญ่รัดที่หน้ากระดานท้องไม้บัวถลาแห่งหนึ่ง รัดหลังบัวถลาแห่งหนึ่ง รัดตั้งแต่ท้องไม้ลูกแก้ว ถึงบัวคลุมถูกปากระฆังอีก 5 ชั้น ที่กลางองค์ระฆังมีเสานางเรียงรัดสายโซ่อีกสามรอบ ที่คอถลามีเสานางเรียง ตีนเสาเชิงเรียงนั้นใส่ปลอกไม้ซากชั้นหนึ่ง แล้วรัดสายโซ่อีก 5 รอบ ปลายเสานั้นเอาไม้ซาก 10 นิ้วสี่เหลี่ยม สับปากกันเป็นปลอกปลายเสาอีกชั้นหนึ่ง ลูกแก้วปล้องไฉนหลังฝาละมีรัดสายโซ่ที่ท้องไม้อีก 8 รอบ แล้วก่ออิฐถือปูนหุ้ม”



เชิญทุกท่านติดตามความมหัศจรรย์ของช่างโบราณที่มีความสามารถยิ่ง ในการก่อเสริมโครงสร้างเพิ่มความแข็งแรงให้กับพระเจดีย์ขนาดใหญ่โตมโหฬารองค์นี้ ดังกล่าวในหนังสือเรื่อง น้ำ: บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย ของ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ว่า “โซ่รัดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อครั้งบูรณะพระปฐมเจดีย์ ในปีพ.ศ. 2512 วิศวกรพบลูกโซ่ขนาดใหญ่รัดองค์พระเจดีย์ไว้เป็นชั้น ๆ ในระดับที่ตรงกันกับแรงดันออกสูงสุดซึ่งคำนวณด้วยวิธีสมัยใหม่”

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เล่าทีละเรื่องเมืองนครปฐม: #1 องค์พระรัดรอบด้วยโซ่ คือ อย่างไร   





บรรณานุกรม

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2516). เรื่องพระปฐมเจดีย์. นครปฐม: สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์.

นฤมล บุญญานิตย์. (2548). การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัดพระปฐมเจดีย์. (2518). ที่ระลึกงานเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์. นครปฐม: วัดพระปฐมเจดีย์.

สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2539). น้ำ : บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2512). เรื่องพระปฐมเจดีย์กับนำเที่ยว. นครปฐม: สำนักงานจัดหาประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์.



---

Send in a voice message: https://podcasters.spotify.com/pod/show/snclibrary/message

Further episodes of SNC Library Podcast

Further podcasts by Sanamchandra Palace Library

Website of Sanamchandra Palace Library